จุดเริ่มต้นของ “วันดินโลก 5 ธันวาคม”
แนวคิดการจัดตั้งวันดินโลก เริ่มขึ้นเมื่อปี 2545 ในวาระที่สหภาพวิิทยาศาสตร์ทางดินนานาชาติ หรือ IUSS (International Union of Soil Science) ร่วมกับกรมพัฒนาที่ดินเป็นเจ้าภาพจัดการประชุมดินโลกที่กรุงเทพมหานคร ซึ่งในครั้งนั้น กรมพัฒนาที่ดินได้นำพระราชกรณียกิจของพระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดช บรมนาถบพิตร ในเรื่องการพัฒนาที่ดินมาจัดแสดง ทำให้ IUSS ประจักษ์ในพระปรีชาสามารถและซาบซึ้งในพระมหากรุณาธิคุณที่ได้ทรงศึกษาค้นคว้าวิธีการจัดการดินและแก้ไขปัญหาทรัพยากรดิน เพื่อให้เกษตรกรอยู่ดีกินดี จึงมีแนวคิดจะเสนอให้วันที่ 5 ธันวาคมของทุกปี ซึ่งเป็นวันคล้ายวันพระราชสมภพ เป็นวันดินโลก เพื่อให้เป็นสัญลักษณ์ของการแสดงออกถึงความตระหนักในบทบาทอันสำคัญยิ่งของทรัพยากรดินที่มีต่อสิ่งมีชีวิต และร่วมกันดูแลรักษาเพื่อให้สามารถใช้ประโยชน์ได้อย่างยั่งยืน
ต่อมาเมื่อวันที่ 16 เมษายน 2555 พระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดช บรมนาถบพิตร พระราชทานพระบรมราชวโรกาสให้ผู้บริหารสหภาพวิทยาศาสตร์ทางดินนานาชาติ ผู้แทนกรมพัฒนาที่ดิน และผู้แทนสมาคมดินและปุ๋ยแห่งประเทศไทย เข้าเฝ้าทูลละอองธุลีพระบาททูลเกล้าทูลกระหม่อมถวายรางวัลนักวิทยาศาสตร์ดินเพื่อมนุษยธรรม (The Humaniterian Soil Scientist) เป็นพระองค์แรกของโลก เพื่อสดุดีพระเกียรติคุณให้เป็นที่ประจักษ์ถึงวิสัยทัศน์และพระราชกรณียกิจเกี่ยวกับการพัฒนาและอนุรักษ์ทรัพยากรดินอย่างยั่งยืน และในโอกาสเดียวกัน ผู้บริหารสหภาพวิทยาศาสตร์ทางดินนานาชาติได้ขอพระราชทานให้วันที่ 5 ธันวาคมของทุกปีเป็นวันดินโลก ซึ่งสำนักงานที่ปรึกษาการเกษตรต่างประเทศประจำกรุงโรม กรมพัฒนาที่ดิน และสมาคมดินและปุ๋ยแห่งประเทศไทย ร่วมกันผลักดินเรื่องวันดินโลกในเวทีระดับนานาชาติ จนสามารถเสนอเข้าสู่ที่ประชุมองค์การอาหารและเกษตรแห่งสหประชาชาติ (FAO) และองค์การสหประชาชาติได้ในที่สุด และเมื่อวันที่ 20 ธันวาคม 2556 ณ ที่ประชุมสมัชชาสหประชาชาติ สมัยสามัญที่ 68 ได้มีมติรับรองวันที่ 5 ธันวาคมของทุกปีเป็นวันดินโลก (World Soil Day) ซึ่งมีผลให้วันดินโลกได้รับการบรรจุในปฏิทินปฏิบัติงานขององค์การสหประชาชาติอย่างเป็นทางการ โดยตั้งแต่ปี 2557 เป็นต้นมา ประเทศสมาชิกองค์การสหประชาชาติต่างก็พร้อมจัดกิจกรรมเพื่อสร้างความตระหนักถึงความสำคัญของทรัพยากรดินในวันดินโลก 5 ธันวาคม